ก้าวแรกสู่วิชาชีพเทคนิคการแพทย์

วิชาชีพเทคนิคการแพทย์คืออะไร

วิชาชีพเทคนิคการแพทย์คือวิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งตัวอย่างทางการแพทย์และการดำเนินการโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการตรวจ ทดสอบ วิเคราะห์ วิจัยและการรายงานผลตรวจ เพื่อวินิจฉัย ติดตาม รักษา การพยากรณ์โรคและการป้องกันโรค หรือเพื่อการประเมินภาวะสุขภาพ

นักเทคนิคการแพทย์คือใคร

นักเทคนิคการแพทย์คือผู้ที่ได้รับปริญญาในสาขาเทคนิคการแพทย์ที่จัดการเรียนการสอนโดยสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรองโดยสภาเทคนิคการแพทย์และได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์กับสภาเทคนิคการแพทย์ สามารถใช้คำนำหน้าชื่อว่า ทนพ. หรือ ทนพญ. สำหรับผู้ชายและผู้หญิงตามลำดับ ทั้งนี้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพมีอายุ 5 ปีซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพต้องสะสมคะแนนการศึกษาต่อเนื่องเพื่อใช้ในการต่ออายุใบอนุญาต การประกอบวิชาชีพโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดตามกฎหมาย

หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ต้องเรียนอะไรบ้าง

ตามมาตรฐานที่ทางสภาเทคนิคการแพทย์และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกำหนดให้หลักสูตรเทคนิคการแพทย์ต้องศึกษาวิชาการศึกษาทั่วไป พื้นฐานวิชาชีพเช่น คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมีวิเคราะห์ สรีรวิทยา กายวิภาคศาสตร์ ชีวเคมี พยาธิวิทยา และวิชาเฉพาะที่จำเป็นสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เช่น เคมีคลินิก จุลทรรศนศาสตร์คลินิก ธนาคารเลือด จุลชีววิทยาคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยาคลินิก โลหิตวิทยาคลินิก ปรสิตวิทยาคลินิก พันธุศาสตร์ อณูชีวโมเลกุล การจัดการข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์ และรายวิชาที่ส่งเสริมเรื่องของการทำงานสหวิชาชีพและส่งเสริมสุขภาพเช่น วิชาเทคนิคการแพทย์ชุมชน นอกจากนั้นยังมีรายวิชาเลือกและรายวิชาเลือกเฉพาะที่เน้นการสร้างอัตลักษณ์หรือความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอีกด้วย ทั้งนี้จำนวนหน่วยกิตและรายวิชาอาจมีความแตกต่างกันตามแต่ละสถาบันและหลักสูตรโดยก่อนเปิดการเรียนการสอนต้องได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยและสภาวิชาชีพก่อน

นักเทคนิคการแพทย์ประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง

นักเทคนิคการแพทย์ในห้องปฏิบัติการ

นักเทคนิคการแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนกับสภาเทคนิคการแพทย์ สามารถประกอบวิชาชีพได้ตามพรบ.เทคนิคการแพทย์ได้ในห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ทั้งในคลินิกเทคนิคการแพทย์และโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ รวมถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น โดยมีหน้าที่รับผิดชอบงานในด้านหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

งานด้านเคมีคลินิก

เน้นการตรวจวินิจฉัยสิ่งตัวอย่างจากเลือด ปัสสาวะ สารคัดหลั่งและสารน้ำอื่น ๆ ทางด้านเคมีคลินิก เช่น ระดับน้ำตาล ไขมัน โปรตีน เอนไซม์ อิเล็กโทรไลต์ และฮอร์โมน ที่เป็นตัวบ่งชี้การทำงานหรือพยาธิสภาพของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ไต หัวใจ ผลจากการตรวจทางเคมีคลินิกนับว่ามีความสำคัญทั้งการตรวจวินิจฉัยและติดตามการรักษาโรค รวมถึงการประเมินภาวะสุขภาพประจำปีของประชาชนทั่วไปอีกด้วย

งานด้านโลหิตวิทยาและจุลทรรศนศาสตร์

งานด้านโลหิตวิทยา เป็นงานที่เกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของเม็ดเลือดและส่วนประกอบของเลือดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคเลือด เช่น ตรวจความผิดปกติของฮีโมโกลบิน ความเข้มข้น จำนวน ขนาดและลักษณะของเม็ดเลือดแดงเพื่อช่วยในการวินิจฉัยภาวะเลือดจางซึ่งรวมถึงธาลัสซีเมีย ตรวจความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวเพื่อช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคที่เกิดจากการอักเสบ ตรวจความผิดปกติของเกล็ดเลือดและตรวจการแข็งตัวของเลือด เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติซึ่งรวมถึงฮีโมฟิเลีย

งานทางด้านจุลทรรศนศาสตร์คลินิก เป็นการตรวจวินิจฉัยเซลล์ พยาธิ หรือสิ่งผิดปกติในสารน้ำจากร่างกายหรืออุจจาระโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ เช่น ตรวจปัสสาวะเพื่อประเมินการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะและช่วยในการวินิจฉัยโรค เช่น โรคไต ตรวจหาเชื้อหนอนพยาธิและโปรโตซัวที่ก่อโรคในลำไส้จากอุจจาระและในเลือดเช่น มาลาเรีย ตรวจนับจำนวนเซลล์และชนิดของเซลล์ที่ผิดปกติในน้ำไขสันหลังหรือน้ำไขข้อเพื่อช่วยในการวินิจโรคที่เกี่ยวข้องกับไขสันหลังหรือไขข้อ

 

งานธนาคารเลือด

นักเทคนิคการแพทย์จำนวนมากทำงานในหน่วยงานวิทยาศาสตร์การบริการโลหิต และ/หรืองานธนาคารเลือดของสภากาชาด และ/หรือโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน  ทำหน้าที่จัดหาเลือดจากผู้บริจาคที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ตรวจคัดกรองโรคติดต่อจากเลือด เตรียมส่วนประกอบของเลือดในแบบต่าง ๆ  และเก็บรักษาอย่างถูกต้องเพื่อรักษาคุณภาพของส่วนประกอบของเลือดให้ตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับใช้พิจารณาให้การรักษาผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพแตกต่างกัน นอกจากนี้ หน้าที่สำคัญยิ่งของนักเทคนิคการแพทย์ คือการปฏิบัติการตรวจก่อนการให้เลือดในทุกกรณีเพื่อป้องกันปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์จากการรับส่วนประกอบของเลือด

งานจุลชีววิทยาคลินิก

งานจุลชีววิทยาเป็นการตรวจวินิจฉัยโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อจุลชีพได้แก่ ไวรัส แบคทีเรียและเชื้อรา โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการเพาะเลี้ยงเชื้อ จำแนกเชื้อ และทดสอบความไวต่อยาต้านจุลชีพ รวมทั้งการตรวจวินิจฉัยด้วยกล้องจุลทรรศน์เพื่อรายงานลักษณะของเชื้อที่ได้ผลเร็วและช่วยให้แพทย์ปรับเปลี่ยนการรักษาได้เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ป่วยและการดื้อยาต้านจุลชีพ ปัจจุบันเทคโนโลยีทางอณูชีวโมเลกุลได้ถูกนำมาใช้เพื่อวินิจฉัยเชื้อเช่น ไวรัสก่อโรค COVID-19 เชื้อวัณโรค เชื้อแบคทีเรียดื้อยา ที่นักเทคนิคการแพทย์มีบทบาทอย่างมากในการตรวจเพื่อยืนยันและรายงานผลเพื่อควบคุมการระบาด

งานด้านภูมิคุ้มกันวิทยา

การตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา ช่วยประเมินความสามารถของร่างกายในการป้องกันตัวเอง และบอกถึงความผิดปกติต่าง ๆ เช่น ภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ภาวะภูมิไวเกิน ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และยังช่วยในการวินิจฉัยและติดตามผลการรักษาโรคติดเชื้อ เช่น โรคซิฟิลิส HIV ไวรัสตับอักเสบ หลังจากการฉีดวัคซีนยังสามารถตรวจระดับภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นได้ นอกจากนี้หลักการทางภูมิคุ้มกันวิทยายังใช้ในการตรวจทางด้านอื่น ๆ เช่น การตรวจหาโปรตีนเพื่อวินิจฉัยหรือติดตามการรักษาโรคมะเร็ง (tumor marker) และการตรวจหาสารเสพติด เป็นต้น

นักเทคนิคการแพทย์ในคลินิกผู้มีบุตรยาก

นักเทคนิคการแพทย์มีบทบาทอย่างมากในคลินิกผู้มีบุตรยาก โดยทำหน้าที่ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัยและประเมินความพร้อมของสามีและภรรยา การเลี้ยงตัวอ่อน การตรวจประเมินพันธุกรรมของตัวอ่อน และการตรวจประเมินก่อนคลอด

ผู้แทนขายหรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี

นักเทคนิคการแพทย์ที่ทำหน้าที่ผู้แทนฝ่ายขายมีหน้าที่ศึกษาและติดตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยและนำเสนอต่อห้องปฏิบัติการหรือโรงพยาบาลด้วยข้อมูลทางวิชาการเพื่อช่วยให้นักเทคนิคการแพทย์หรือแพทย์ตัดสินใจในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ราคาเหมาะสมกับระดับการให้บริการและผู้ป่วย นักเทคนิคการแพทย์ที่ทำงานด้านนี้นับว่าเป็นกลุ่มที่สำคัญในการผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าในวงการเทคนิคการแพทย์และส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์ที่ส่งผลประโยชน์กับผู้รับบริการ

นักเทคนิคการแพทย์ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคือผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในเชิงลึกในการทำงานของเครื่องมือและอุปกรณ์ สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ช่วยให้คำแนะนำกับนักเทคนิคการแพทย์ในห้องปฏิบัติการ ช่วยในการติดตั้งและดูแลให้เครื่องมือพร้อมใช้งานอยู่เสมอ

งานด้านการส่งเสริมสุขภาพ

นอกจากการทำงานในห้องปฏิบัติการแล้วนักเทคนิคการแพทย์ยังสามารถทำงานนอกห้องปฏิบัติการเช่นการตรวจสุขภาพเชิงรุก การตรวจสุขภาพประจำปีนอกสถานที่ การตรวจสุขภาพในคลินิกเทคนิคการแพทย์ การตรวจคัดกรองโรคในชุมชนร่วมกับทีมสหวิชาชีพ และการให้คำแนะนำและปรึกษาทางด้านการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันนโยบายของภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องการให้บริการปฐมภูมิเพื่อดูแลประชาชนก่อนที่จะมารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ส่งเสริมให้นักเทคนิคการ แพทย์สามารถทำงานให้บริการนอกสถานที่ได้มากขึ้นเช่น การให้คำปรึกษาทางสุขภาพทางไกล (telelab) ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ

นักเทคนิคการแพทย์ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

นักเทคนิคการแพทย์สามารถปฏิบัติงานในหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาด้านการตรวจวิเคราะห์ การตรวจประเมินอุปกรณ์ทางการแพทย์ การตรวจคัดกรองและควบคุมโรค เป็นต้น

นักวิจัย

นักเทคนิคการแพทย์ที่สนใจทางด้านงานวิจัยสามารถเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยได้หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือปริญญาโท โดยสามารถติดตามแหล่งทุนหรือการจ้างผู้ช่วยนักวิจัยได้จากหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และสามารถทำงานเป็นนักวิจัยในสถาบันการศึกษาหรือโรงพยาบาลรวมทั้งบริษัทเอกชนได้หลังจากจบปริญญาเอกในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปนักเทคนิคการแพทย์สามารถทำงานวิจัยทางด้านการแพทย์ได้หลากหลายโดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ทักษะทางการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ หรือการศึกษาทางระบาดวิทยา และสาธารณสุข ปัจจุบันนักเทคนิคการแพทย์ยังสามารถทำวิจัยทางด้านคอมพิวเตอร์ เช่นงานทาง machine learning, data science และ bioinformatics อีกด้วย

อาจารย์ในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาอื่น ๆ

นักเทคนิคการแพทย์เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วสามารถเรียนต่อในสาขาต่าง ๆ ได้มากมายเช่น สาขาเทคนิคการแพทย์ สาขาพยาธิวิทยา สาขาชีวการแพทย์ สาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถทำงานเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอนนักเทคนิคการแพทย์หรือนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ได้

สถาบันการศึกษาและหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์

บัณฑิตที่ได้รับปริญญาที่ได้รับการรับรองจากสภาเทคนิคการแพทย์จะสามารถสมัครเป็นสมาชิกและขอสอบวัดความรู้และขอขึ้นทะเบียนเพื่อรับใบอนุญาตเพื่อประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ได้

ลำดับ ชื่อหลักสูตร ชื่อสถาบัน ระยะเวลาการรับรองถึงสิ้นปีการศึกษา หมายเหตุ
หลักสูตร สถาบัน ปริญญา
1 เทคนิคการแพทยบัณฑิต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2571 2571 2571
2 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2570 2570 2570
3 เทคนิคการแพทย์บัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2570 2569 2569
4 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยมหิดล 2569 2569 2569
5 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยบูรพา 2569 2568 2568
6 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยพะเยา 2569 2568 2568
7 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ 2568 2568 2568
8 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2568 2568 2568
9 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยราชภัฎบ้านสมเด็จเจ้าพระยา 2570 2567 2567
10 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยรังสิต 2569 2567 2567
11 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยนเรศวร 2568 2567 2567
12 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) วิทยาลัยนครราชสีมา 2568 2567 2567
13 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2567 2567 2567
14 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยขอนแก่น 2567 2567 2567
15 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยปทุมธานี 2568 2567 -* รับรองปริญญาเมื่อมีผลการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพฯ ของผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกของหลักสูตร
16 เทคนิคการแพทยบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 2571 2566 -* รับรองปริญญาเมื่อมีผลการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพฯ ของผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกของหลักสูตร
17 วิทยาศาสตรบัณฑิต (เทคนิคการแพทย์) มหาวิทยาลัยเนชั่น ลำปาง 2566 2566 2566 รับรองปริญญาเมื่อมีผลการสอบความรู้เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพฯ ของผู้สำเร็จการศึกษารุ่นแรกของหลักสูตร