เกี่ยวกับสภาฯ

ประวัติความเป็นมาของสภาเทคนิคการแพทย์

               ความต้องการเทคนิคการแพทย์ในประเทศไทยได้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2487 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรซึ่งทำการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการ ทำให้เกิดการจัดตั้งโรงเรียนเทคนิคจากแพทย์ขึ้น    ณ คณะพยาบาลศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี      พ.ศ. 2494 และต่อมาได้สถาปนาเป็นคณะเทคนิคการแพทย์เมื่อปี พ.ศ. 2500 ซึ่งเป็นคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน มีศาสตราจารย์นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ เป็นคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์  ท่านแรก ถือว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ในประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2506 ศาสตราจารย์ นายแพทย์วีกูล วีรานุวัตติ์ ได้ก่อตั้งสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยขึ้น และเป็นนายกสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทยท่านแรก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาระดับวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ เพื่อผดุง ส่งเสริมให้ก้าวหน้า เพื่อสมานสามัคคี เพื่อเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยน และเผยแพร่ความรู้ และเพื่อร่วมรักษาจรรยาในวิชาชีพ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2519 นายแสงชัย ไหลวัฒนา (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นนายแสง มีนิจสิน) นายกสมาคมฯ ได้ผลักดันพร้อมกับวิชาชีพกายภาพบำบัด ให้ทั้งสองวิชาชีพเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2479 โดยคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 38 และวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะเป็นผู้ควบคุมการประกอบโรคศิลปะ   และไม่ให้มีผู้แสวงหาผลประโยชน์ หรือใช้วิชาชีพโดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน

                 ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีคณะกรรมการวิชาชีพ สาขาเทคนิคการแพทย์ ทำหน้าที่ขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะสาขาเทคนิคการแพทย์ เพื่อควบคุม ส่งเสริม พัฒนาและกำหนดมาตรฐานการประกอบโรคศิลปะ สาขาเทคนิคการแพทย์   ซึ่งการดำเนินการของคณะกรรมการวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ ด้วยความพยายามผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ของสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย โดยนายกสมาคมฯ หลายท่านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 ผู้ช่วยศาสตราจารย์    เลอสรวง ชวนิชย์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์เนตร สุวรรณคฤหาสน์  ศาสตราจารย์ ดร.เวคิน นพนิตย์ จนถึงวันที่        17 มิถุนายน พ.ศ. 2540 รองศาสตราจารย์สมชาย วิริยะยุทธกร นายกสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับศาสตราจารย์ ดร.วีรพงษ์ ปรัชชญาสิทธิกุล คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานสภาคณบดีสถาบันผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย และคณบดีสถาบันผลิตบัณฑิตเทคนิคการแพทย์ อีก 6 ท่าน ได้ร่วมกันลงนามหนังสือเสนอกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ความเห็นชอบในหลักการ ให้วิชาชีพเทคนิคการแพทย์เป็นวิชาชีพอิสระ โดยตราเป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์

                   ต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 นายปรีชา ปิตานนท์ ผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขากายภาพบำบัด และวุฒิสมาชิกจังหวัดจันทบุรีได้ทำหนังสือถึง นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ขอความอนุเคราะห์ให้จัดตั้งสภากายภาพบำบัด และสภาเทคนิคการแพทย์ ตราเป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัดและพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และในเดือนธันวาคม   พ.ศ. 2544 จากการประสานงานของศาสตราจารย์ ดร.วีรพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้รองศาสตราจารย์สมชาย วิริยะยุทธกร  ศาสตราจารย์ ดร.วีรพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล และรองศาสตราจารย์กานดา ใจภักดี ได้เข้าพบนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อชี้แจงถึงความจำเป็นและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสนอให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ และพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด และในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2544    นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เห็นชอบในหลักการที่จะให้วิชาชีพเทคนิคการแพทย์และวิชาชีพกายภาพบำบัดเป็นวิชาชีพอิสระ จึงเสนอร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. …. มาเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป นับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของการเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ

                    วันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2545 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามอนุมัติเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ และในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2545 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติส่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ให้สำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป และระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 26 กันยายน พ.ศ. 2545 คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 10 ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ และแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 เพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ส่งร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้รวม 4 ฉบับไปให้คณะกรรมการประสานงานผู้แทนราษฎรพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยมีนายอดิศร เพียงเกษ ผู้ประสานงานผู้แทนราษฎรของรัฐบาล ได้ให้ความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง

                    วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 นายกรัฐมนตรี ได้ส่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับ ให้      นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยในวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2546 ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 21 ปีที่ 3 ครั้งที่ 8 พิจารณาลงมติรับหลักการร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. …. และ ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์

                    ต่อมาวันที่ 10 กันยายน – 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546 ที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายแพทย์ภูมินทร์  ลีธีระประเสริฐ ประธานคณะกรรมาธิการ  นายธเนตร บัวแย้ม ทำหน้าที่แทน นายแพทย์ณรงค์ศักดิ์  อังคะสุวพลา เลขานุการคณะกรรมาธิการ และรองศาสตราจารย์สมชาย วิริยะยุทธกร ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการ และได้แต่งตั้งศาสตราจารย์ ดร.วีรพงศ์ ปรัชชญาสิทธิกุล และนายสมชัย เจิดเสริมอนันต์   เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการ และวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2547 ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร          ชุดที่ 21 ปีที่ 4 ครั้งที่ 17 ที่ประชุมได้พิจารณาในวาระที่ 2 แล้วลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบด้วยร่างพระราชบัญญัติ ฉบับนี้และให้เสนอต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ

                    วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2547 สภาผู้แทนราษฎรส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้วุฒิสภา       และในวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2547 ที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 19 ได้ลงมติรับร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. …. ซึ่งวุฒิสภามีมติเห็นชอบแล้วไว้พิจารณาและตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง

                   พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ โดยมี พลโทปัญญา อยู่ประเสริฐ เป็นประธานคณะกรรมมาธิการวิสามัญ และอาจารย์สมชาย วิริยะยุทธกร เป็นเลขานุการคณะกรรมมาธิการวิสามัญ ต่อมาในวันที่ 29 เมษายน – 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ประชุมคณะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. …. วุฒิสภา และในวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ที่ประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 30 ได้พิจารณาร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. …. วาระที่ 2 และวาระที่ 3 มีมติเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. …. หลังจากนั้นได้พิจารณาและเห็นชอบร่าง พระราชบัญญัติ การประกอบโรคศิลปะ(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และได้พิจารณาและเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

                    วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2547 มีประกาศพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. 2547 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 65 ก และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป ได้มีการแยกอำนาจการควบคุมการประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ออกจากอำนาจของคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ และให้มีสภาเทคนิคการแพทย์ ทำหน้าที่ส่งเสริมการประกอบวิชาชีพ กำหนดและควบคุมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ และควบคุมมิให้มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากบุคคลซึ่งไม่มีความรู้อันก่อให้เกิดภัยและความเสียหายแก่ประชาชน

                     วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ที่ประชุมคณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ได้เลือกตั้ง     รองศาสตราจารย์สมชาย วิริยะยุทธกร เป็นนายกสภาเทคนิคการแพทย์คนแรก วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2548    ที่ประชุมคณะกรรมการสภาเทคนิคการแพทย์ได้เลือกตั้งนายสมชัย เจิดเสริมอนันต์ เป็นเลขาธิการสภาเทคนิคการแพทย์คนแรก

สัญลักษณ์สภาเทคนิคการแพทย์

โลโก้ของสภาเทคนิคการแพทย์ เป็นรูปคฑาไม้สีทอง มีพญานาคสีทองพันรอบไม้คฑาเป็นรูปตัวอักษร “” อยู่กลางวงรีพื้นสีน้ำเงิน มี .. 2547 ปีก่อตั้งเป็นตัวอักษรสีขาว 

พื้นวงรีนอกเป็นสีแดงเลือดนก (สีของวิชาชีพมีตัวอักษรสีขาวชื่อสภาเทคนิคการแพทย์ ทั้งไทยและอังกฤษ

อธิบายว่า สัญลักษณ์ พญานาคสีทอง หรืองูใหญ่ เป็นสัตว์ที่มีความยิ่งใหญ่ งูเป็นสัญลักษณ์ของวงการแพทย์  พันเป็นตัวอักษร  หมายถึง เทคนิคการแพทย์ “ คฑา เป็นเครื่องหมายที่ใช้ชี้นำ นำพา 

สรุป ความหมายว่า วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ คือความยิ่งใหญ่ของการค้นหา/ตรวจหาสาเหตุหรือต้นตอซึ่งจะชี้นำในการดูแลรักษาสุขภาพทุกทิศทาง

กรรมการสภาเทคนิคการแพทย์

1. กรรมการโดยตำแหน่ง 2 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายกสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย
2. กรรมการซึ่งเป็นคณบดีคณะเทคนิคการแพทย์หรือคณบดีคณะที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น หรือหัวหน้าภาควิชาที่ผลิตบัณฑิตเทคนิค การแพทย์ เลือกกันเองให้เหลือ 5 คน
3. กรรมการซึ่งเป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข 3 คน กระทรวงกลาโหม 1 คน และกรุงเทพมหานคร 1 คน
4. กรรมการที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากสมาชิก จำนวน 12 คน

*ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับที่ 121 ตอนพิเศษ 65 ก ลงวันที่ 22 ตุลาคม

กรรมการสภาเทคนิคการแพทย์วาระปัจจุบัน

กรรมการสภาเทคนิคการแพทย์วาระที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๖๖ - ๒๕๖๙)

ทนพ.สมชัย เจิดเสริมอนันต์ นายกสภาเทคนิคการแพทย์
ทนพ.วิทยา เงาตะคุ อุปนายกสภาเทคนิคการแพทย์ คนที่ 1
รศ.ดร.ทนพญ.ปาลนี  อัมรานนท์ อุปนายกสภาเทคนิคการแพทย์ คนที่ 2
ผศ.ดร.ทนพ.ลิขิต ปรียานนท์ เลขาธิการ
ทนพ.กรณมณีธนา ปุณณศิริมั่งมี รองเลขาธิการ
ทนพญ.ทัศนีย์  สกุลดำรงค์พานิช เหรัญญิก
ผศ.ดร.ทนพ.เอนก ภู่ทอง ประชาสัมพันธ์
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์                                                    ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
รศ.ดร.ทนพ.พิทักษ์  สันตนิรันดร์ นายกสมาคมเทคนิคการแพทย์แห่งประเทศไทย
ศ.ดร.ทนพ.สาคร  พรประเสริฐ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ดร.ทนพ.รุ่งโรจน์ เชิดตระกูลเกียรติ หัวหน้าภาควิชาจุลชีววิทยาและเทคโนโลยีประยุกต์ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ทนพญ.เยาวลักษณ์  พิมายนอก คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต
รศ.ดร.ทนพญ.จุรีรัตน์  ดาดวง คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ทนพญ.ภาวิตา สุวรรณวัฒนะ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข
ดร.นพ.อาชวินทร์  โรจนวิวัฒน์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข
พ.อ.หญิง ทนพญ.ชไมพร ศรีจินดา ผู้แทนกระทรวงกลาโหม
ทนพญ.บุญพา  ยอดโสวรรณ ผู้แทนกรุงเทพมหานคร
ดร.ทนพ.นราวุฒิ  สุวรรณัง กรรมการจากการเลือกตั้ง
รศ.ดร.ทนพญ.นันทรัตน์  โฆมานะสิน กรรมการจากการเลือกตั้ง
ผศ.ทนพ.ประพัณฐ์  หลวงสุข กรรมการจากการเลือกตั้ง
ทนพญ.มัชฌิมา  เวชกุล กรรมการจากการเลือกตั้ง
ดร.ทนพ.ทรงราชย์  ไชยญาติ กรรมการจากการเลือกตั้ง
ดร.ทนพญ.นุสรา  สัตย์เพริศพราย กรรมการจากการเลือกตั้ง
ทนพญ.ธัญพิชชา  ต้นวงษ์ กรรมการจากการเลือกตั้ง